GROUPON 5320221062

GROUPON

บริษัทไหนที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก?

ถ้าถามท่านผู้อ่านว่าบริษัทไหนในโลกที่มีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ ท่านผู้อ่านอาจจะนึกถึงบรรดายักษ์ใหญ่ต่าง ๆ เช่น GE, GM, Microsoft แต่ถ้าใบ้เพิ่มเติมว่าเป็นบริษัทที่อยู่บนอินเตอร์เนต ท่านผู้อ่านก็อาจจะนึกถึง Google หรือ Yahoo แต่ถ้าเฉลยว่าคือ Groupon ท่านผู้อ่านหลายท่านก็อาจจะทำหน้าสงสัยว่าคืออะไร? Groupon เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นมาเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา คาดว่าจะมีรายได้อยู่ประมาณ $3-$4 พันล้านเหรียญในปีนี้ เพิ่มจาก $750 ล้านเหรียญในปีที่ผ่านมา สำหรับมูลค่าโดยรวมของบริษัทนั้น คาดการณ์ว่า (เนื่องจากยังเป็นบริษัทส่วนตัวอยู่จึงยังไม่มีตัวเลขเปิดเผยออกมา) บริษัทน่าจะมีมูลค่ามากกว่า $3-$4 พันล้านเหรียญ (เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา บริษัทแสวงหาแหล่งทุนเพิ่มเติมอีก $3 พันล้าน และบริษัทเพิ่งปฏิเสธการเข้ามาซื้อกิจการโดย Google ในมูลค่า $6 พันล้าน)
ท่านผู้อ่านที่ไม่คุ้นกับ Groupon อาจจะสงสัยว่าเจ้าบริษัทนี้เป็นบริษัทอะไร หรือทำไมภายในระยะเวลาจากการก่อตั้งเพียงแค่ 2 ปี ทำไมถึงได้มีรายได้ และมูลค่าบริษัทสูงขนาดนี้ ก่อนอื่นต้องมาดูเจ้าตัว Business Model ของ Groupon ก่อนว่าเขาทำอะไร Groupon เป็นบริษัทแรก ๆ ของโลกที่คิดธุรกิจ Group Coupon หรือ Deal-of-the-Day ขึ้นมา โดยเขาจะไปเจรจากับห้างร้านต่าง ๆ เพื่อขอส่วนลดจากร้านเหล่านั้น และส่วนลดนี้ก็จะเป็นส่วนลดที่ค่อนข้างสูง จากนั้นนำคูปองหรือส่วนลดนั้นไปขายต่อในเว็บ เป็นลักษณะของ Deal-of-the-Day โดยแต่ละวันก็จะมีร้านต่าง ๆ หมุนเวียนกันไป และผู้เข้ามาที่เว็บก็ต้องเป็นสมาชิกและให้เบอร์บัตรเครดิต ถ้าเราสนใจสินค้า หรือบริการไหน ก็กดซื้อ จากนั้น ถ้ามีคนมากดซื้อถึงจำนวนหนึ่ง (ตามที่เขากำหนดไว้) การซื้อขายนั้นก็จะประสบความสำเร็จ เงินถูกหักจากบัตรเครดิต และคูปองนั้นก็จะถูกส่งมาที่ผู้ซื้อทางอีเมล เพื่อให้ไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการตามที่ซื้อไว้ แต่ถ้ามีคนซื้อไม่ถึงจำนวนที่กำหนด การซื้อขายนั้นถือว่ายกเลิกไป
Business Model ของ Groupon ถือว่าทำให้ทุกฝ่ายทั้งร้านค้า Groupon และผู้บริโภค ได้รับสิ่งที่ต้องการทั้งหมด โดยฝ่ายผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้า หรือบริการที่ตนเองต้องการได้ในราคาที่ถูกกว่าปรกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจอเมริกันยังไม่ฟื้นตัวแบบนี้ การซื้อของผ่านทางคูปอง หรือการซื้อของและได้ส่วนลดเยอะ ๆ นั้น ถือเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ ในขณะที่ทางร้านค้าก็ได้ประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์สินค้า หรือบริการของตนเอง อีกทั้งทำให้ลูกค้าเข้ามาซื้อหรือใช้บริการกันมาก เล่ากันว่าหลายธุรกิจที่ให้ส่วนลดผ่านทาง Groupon นั้น พอวันรุ่งขึ้นร้านแทบจะไม่สามารถรับมือกับคลื่นลูกค้าที่แห่กันมาซื้อสินค้าและบริการได้ (ส่วนใหญ่ Groupon จะเหมาะกับร้านที่มีขนาดเล็ก หรือธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้นและลูกค้ายังรู้จักไม่มาก) ส่วนตัว Groupon เองก็ได้ส่วนต่างจากส่วนลดที่ประกาศ เช่น Groupon อาจจะไปเจรจาขอส่วนลดร้านไว้ถึง 70% แต่พอเอามาขายหน้าเว็บ จะให้ส่วนลดลูกค้าไว้แค่ 50% ส่วนต่างที่เกิดขึ้นก็เข้าไปเป็นรายได้ของ Groupon ความสำเร็จของ Groupon มาจากหลายสาเหตุทั้งในเรื่องของความเหมาะสม ในเรื่องเวลา ที่จริงแล้ว Paul Allen หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Microsoft ก็เคยตั้ง Mercata ซึ่งทำธุรกิจ Group-Discount เหมือนกัน แต่ไม่ประสบความสำเร็จและปิดตัวเองไปในยุค dot.com บูม พอมาในปัจจุบันด้วยกระแสของสังคมออนไลน์ที่ Groupon พยายามใช้ประโยชน์อย่างมาก กลับทำให้ Groupon ประสบความสำเร็จขึ้นมาได้ นอกจากนี้ ความสำเร็จอีกประการน่าจะมาจากรากฐานของลูกค้า Groupon ที่กว้าง ซึ่งเริ่มต้นจากอเมริกาที่มีเมืองขนาดใหญ่ และเมืองต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก และส่งผลต่อการเติบโตของ Groupon ที่ขยายต่อไปตามเมืองต่าง ๆ ของอย่างรวดเร็ว ซึ่งหากคิดดูว่าธุรกิจนี้มาเริ่มต้นในประเทศเล็ก ๆ อย่างไทย โอกาสที่จะประสบความสำเร็จนั้นจะมีเพียงใด
อย่างไรก็ดี ข้อควรระวังที่สำคัญของ Groupon โดยเฉพาะอย่างยิ่งลักษณะของ Business Model ที่สามารถลอกเลียนแบบได้ง่าย บริษัทต่าง ๆ สามารถลอกเลียนแบบหรือทำตาม Groupon ได้ไม่ยาก แถมบรรดาร้านค้าต่าง ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องให้ส่วนลดในสินค้าและบริการของตนเองผ่านทาง Groupon เจ้าเดียว สามารถให้ผ่านได้หลาย ๆ เจ้า คู่แข่งสำคัญของ Groupon ในปัจจุบันคือ Living Social เป็นบริษัทที่ทาง Amazon เข้าไปลงทุน หรือในประเทศไทยเองมีหลายเจ้า เช่น Ensogo Thailand หรือ N Coupon ตอนนี้เริ่มมีบทความ และงานวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับรูปแบบธุรกิจของ Groupon ออกมามากขึ้น โดยเฉพาะด้านความยั่งยืนของ Groupon จะเป็นอย่างไร จะยืนระยะนาน ๆ เพื่อต่อสู้กับคู่แข่งใหม่ ๆ ที่เข้ามาได้หรือไม่ รวมทั้งเริ่มมีข้อสงสัยขึ้นมาว่าร้านค้าต่าง ๆ ได้ประโยชนจากการให้ส่วนลดเป็นจำนวนมากจริงหรือไม่ ล่าสุดทาง Groupon ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ คือ Groupon Now ที่มีเพียงแค่สองปุ่ม คือ “ฉันหิว” กับ “ฉันเบื่อ” ให้ลูกค้าโหลด App เข้าไปไว้ในโทรศัพท์มือถือ และเมื่อหิว และอยากจะหาร้านที่ให้ส่วนลด เพียงกด “ฉันหิว” เครื่องก็จะบอกเองว่าจากทำเลที่เรายืนอยู่นั้นมีร้านอาหารใดให้ส่วนลดและอยู่ใกล้ ๆ บ้าง ทาง Groupon หวังว่าเจ้าบริการใหม่นี้จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการป้องกันการลอกเลียนแบบจากคู่แข่งขัน ซึ่งก็คงต้องดูกันต่อไป

สรุป บทวิเคราะห์

GROUPON คืออะไร

Groupon บน iphone

flickr:5634789606


คำว่า GROUPON ผสมมาจาก Group กับ Coupon ก่อตั้งโดยโดย Andrew Mason วัย 29 ปี ซึ่งตอนนี้บริษัทมีพนักงาน 3,000 คน มีจุดขายที่ Social Commerce และ Geographic Market หน้าที่หลักคือ รวบรวมกำลังซื้อของคน เพื่อที่จะหาส่วนลดของ Local Business ในเมืองต่างๆ หรือ Collective Buying Power เพื่อให้เกิด “Deal-for-the-Day” อันน่าตื่นใจ ลูกค้าของ Groupon เป็นผู้หญิง 64% และอายุ 18-34 ซึ่งชอบช็อปปิ้งและตาไวกับ Promotion มากๆ
GROUPON เป็นบริษัทที่โตเร็วที่สุดในโลกเพราะใช้เวลาไม่นาน (ตั้งในปี 2551) ก็สามารถมีรายได้ต่อปี 500 ล้านเหรียญสหรัฐได้ซึ่งแน่นอนว่าเร็วกว่า Google และ Amazon มาก โดยก่อนหน้านี้ Google ได้ขอซื้อ Groupon ด้วยมูลค่าสูงถึง 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ Andrew Mason ได้ปฏิเสธข้อเสนอของ Google
ปัจจุบัน GROUPON มีสาขาอยู่ที่ประเทศ USA, แคนาดา, บราซิล, เยอรมัน, ฝรั่งเศส, อังกฤษ, อิตาลี, โปรตุเกส, สเปน, ญี่ปุ่น, โปแลนด์, ตุรกี, เม็กซิโก, ชิลีและ โรมาเนีย รวมแล้วมีสมาชิก 35 ล้านคน

การบริการ คือ นำเสนอส่วนลดที่ Groupon เองสนใจและต้องการซื้อ โดยไม่สามารถหาจากที่ไหนได้หรือที่เรียกว่า Deep Discount ซึ่งใช้ “เวลา” ที่จำกัด และ “ราคา” ที่ดึงดูด ด้วย 3 ขั้นตอนง่ายๆ คือ

1. Get it รับดีลพิเศษ โดยปกติมอบส่วนลด 50-90% ผ่าน Facebook, Twitter และอีเมล เพียงวันละ 1 ดีลเท่านั้น
2. Share it นำดีลที่น่าสนใจไปบอกต่อกับเพื่อนๆ ผ่านทาง Social Media ต่างๆ (การแนะนำเพื่อนให้มาเป็นสมาชิกจะได้รับคูปองมูลค่า 10 เหรียญสหรัฐ) หากได้จำนวนตามที่ต้องการ (Critical Mass) แล้วก็จะถือว่าเป็น Group Buying หรือ Collective Buying สามารถใช้สิทธิ์ตามดีลนั้นได้ เป็นการนำหลักการ Economy of Scale มาใช้ได้อย่างชาญฉลาดภายในระยะเวลาที่จำกัด
3. Enjoy it สั่งพิมพ์ดีลนั้นหรือดาวน์โหลดผ่านสมาร์ทโฟนและนำไปแสดงที่ร้านค้านั้นๆ เพื่อรับดีลพิเศษ หลังจากจ่ายเงินซื้อดีลนั้นแล้วทางบัตรเครดิต การันตีว่าเกิดการซื้อขึ้น

ข้อดีของ GROUPON
• Groupon เป็นบริการลักษณะ Group Buying คือรวมกันซื้อในราคาถูก เป็นรูปแบบหนึ่งของ
E-Commerce ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่จะทำให้คนไทยเริ่มใช้มากขึ้น รวมถึงทำให้ตลาด E-Commerce ในไทยเติบโตขึ้นต่อไปในอนาคต เพราะคนไทยกล้าซื้อของออนไลน์และจะกล้าซื้อสินค้าชิ้นอื่นๆต่อไป ซึ่งในไทยได้มี บริษัท “กรุ๊ปปอง จำกัด” Groupon.co.th เกิดขึ้นในไทยแล้ว
• Business Model ของ Groupon ถือว่าทำให้ทุกฝ่ายทั้งร้านค้า, Groupon และผู้บริโภค ได้รับสิ่งที่ต้องการทั้งหมด โดยฝ่ายผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้า หรือบริการที่ตนเองต้องการได้ในราคาที่ถูกกว่าปรกติ ซึ่ง Model ของ Groupon มีจุดน่าสนใจในเรื่องของ “ราคา” และความแปลก เลยทำให้ Groupon โตอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ทางร้านค้าก็ได้ประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์สินค้า หรือบริการของตนเอง อีกทั้งทำให้ลูกค้าเข้ามาซื้อหรือใช้บริการกันมาก ส่วนทางGroupon เองก็ได้ส่วนต่างจากส่วนลดที่ประกาศ เช่น Groupon อาจจะไปเจรจาขอส่วนลดร้านไว้ถึง 70% แต่พอเอามาขายหน้าเว็บ จะให้ส่วนลดลูกค้าไว้แค่ 50% ส่วนต่างที่เกิดขึ้นก็เข้าไปเป็นรายได้ของ Groupon ต่อไป สรุปได้ว่า ทุกฝ่ายต่างได้ผลประโยชน์เหมือนกัน
• การบริการ Groupon ไม่ต้องมีการใช้เงินลงทุนมาก เพียงแค่ติดต่อร้านค้าที่ต้องการเข้าร่วม และทำการโฆษณาผ่านทางเว็บไซต์และ Social Media ก็สามารถสร้างรายได้อย่างมหาศาล

ข้อเสียของ GROUPON
• ลักษณะของ Business Model ของ Groupon สามารถลอกเลียนแบบได้ง่าย บริษัทต่าง ๆ สามารถลอกเลียนแบบหรือทำตาม Groupon ได้ไม่ยาก ซึ่งทาง Groupon ต้องมีการเร่งสร้าง Business และพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพื่อก้าวข้ามผ่านการลอกเลียนแบบจากบริษัทอื่น ๆ
• บรรดาร้านค้าต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องให้ส่วนลดในสินค้าและบริการของตนเองผ่านทาง Groupon เพียงรายเดียว โดยสามารถให้ผ่านได้หลาย ๆ เจ้า
• GROUPON อาจต้องปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมในแต่ละภูมิภาค แต่ละประเทศ รวมทั้งเรื่องของคนและ Local Business เช่น ในไทยอาจจะเข้าไปทำ Social Media เรื่องการท่องเที่ยว โดยการเสนอส่วนลดราคาที่พัก เป็นต้น
• GROUPON จะถูกโค่นได้ถ้าคู่แข่งสามารถทำ Engine ที่ทำให้เกิดการดีลโดยอัตโนมัติระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย

ที่มา : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์
ปี 3 ฉบับที่ 124 (24/1271) วันที่ 11-17 เมษายน 2554
Management (Section C7)
แนวคิดการบริหาร โดย รศ.ดร พสุ เดชะรินทร์

Reference: http://www.manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9540000006625