Google I O 2011
flickr:5733423436

งานสัมมนาประจำปี Google I/O ของกูเกิล กลายเป็นเวทีสำหรับแถลงข่าวผลิตภัณฑ์ใหม่ที่น่าจับตามองไปเสียแล้ว โดยวันแรกของงาน Google I/O 2011 ในช่วง keynote เปิดงาน กูเกิลก็แถลงข่าวเกี่ยวกับ Android ตามคาด ส่วนประเด็นที่แถลงก็เรียกได้ว่า "มากมาย" จนต้องแบ่งกันเขียนเป็นหลายๆ ข่าว

กูเกิลเปิดงานด้วยภาพหุ่นเขียวนั่งกินแอปเปิล ก่อนจะเริ่มยิงสถิติชุดใหญ่
• จำนวนอุปกรณ์ Android ที่ถูกเปิดใช้ (activated) ทั้งหมด ทะลุ 100 ล้านชิ้นไปแล้ว
• ผู้สร้างฮาร์ดแวร์แบบ OEM 36 ราย, วางขายใน 112 ประเทศ, 215 เครือข่าย, นักพัฒนา 450,000 ราย
• จำนวนอุปกรณ์ที่เปิดใช้ต่อวัน ขึ้นมาแตะหลัก 400,000 ชิ้นแล้ว (ได้เห็นตัวเลขนี้ไปสู้กับแอปเปิลอีกพักใหญ่)
• จำนวนแอพใน Market 200,000 แอพ, จำนวนครั้งที่ติดตั้งแอพ 4.5 พันล้านครั้ง
จากนั้นกูเกิลก็ประกาศข่าว Android เวอร์ชันใหม่ 2 รุ่น

Android
ปีที่แล้วกูเกิลใช้เวที Google I/O เปิดตัว Android 2.2 Froyo ซึ่งกลายมาเป็น Android รุ่นมาตรฐานของอุปกรณ์จำนวนมาก ปีนี้พระเอกของงานนี้น่าจะยังเป็น Android รุ่นถัดไปซึ่งมีข่าวว่าจะชื่อ "Ice Cream Sandwich" ตามข่าวก่อนหน้านี้คือมันจะรวมฐานโค้ดของ Android 2.x และ Android 3.x เข้าด้วยกัน
Ice Cream Sandwich
Android รุ่นต่อไปถัดจาก Honeycomb ซึ่งประกาศชื่อชัดเจนแล้วว่า "Ice Cream Sandwich" พร้อมโลโก้ดังภาพ

flickr:5733423276

รายละเอียดมีดังนี้
• Ice Cream Sandwich จะรวมโค้ดของ Android เวอร์ชันมือถือและแท็บเล็ตเข้าด้วยกัน
• Ice Cream Sandwich จะกลายเป็น "ระบบปฏิบัติการตัวเดียว" ที่ใช้กับอุปกรณ์อะไรก็ได้
• นำอินเทอร์เฟซ holographic และระบบมัลติทาสกิงของ Honeycomb ไปใส่ใน Ice Cream Sandwich
• โชว์เดโมการจับภาพของคนพูดใน video chat เมื่อหัวคนพูดขยับตำแหน่ง กล้องจะประมวลผลตาม และปรับภาพตามไปด้วย (เทพมาก)
• กำหนดออกไตรมาสที่สี่ของปีนี้
ในงาน Google I/O รอบนี้ ยังไม่มีภาพของ Ice Cream Sandwich มาให้ดูว่าหน้าตาเป็นอย่างไร
ที่มา - Android Central

Honeycomb 3.1

flickr:5733423290

รุ่นอัพเดตของ Android 3.0 Honeycomb ของใหม่ที่เพิ่มเข้ามาคือ
• ปรับปรุงการสลับแอพให้ดีขึ้น โดยรองรับแอพใน Recent Apps ไม่จำกัดจำนวน (เลื่อนขึ้นลงได้) ซึ่ง Android โฆษณาว่าเป็น true multi-tasking
• widget สามารถปรับขนาดได้แล้ว (ไม่ต้องลง home replacement อีกต่อไป!)
• Media Transfer Protocol (MTP) อ่านข้อมูลจากอุปกรณ์อื่นที่ต่อผ่าน USB ได้ เช่น ต่อเชื่อมกล้องถ่ายภาพกับแท็บเล็ต Android เพื่อดูรูปภาพได้โดยตรง
• รองรับอุปกรณ์หลายชนิดที่ต่อผ่าน USB ที่พูดถึงในงานคือ คีย์บอร์ด เมาส์ ทัชแพด จอยสติ๊ก (ในงานสาธิตต่อจอย Xbox เข้ากับแท็บเล็ต)
• โหมด USB Host เมื่อต่ออุปกรณ์ USB เข้ากับ Android แล้ว มันจะค้นหาแอพที่เหมาะสมกับการใช้งานอุปกรณ์ได้ ถ้าไม่เจอก็สามารถค้นหาจาก Market ได้
แอพอื่นๆ ที่มากับ Honeycomb ก็ได้รับการปรับปรุงดังนี้
• เบราว์เซอร์ - รองรับ CSS 3D, HTML5 video, ปุ่มควบคุมแบบ Quick Controls UI ที่เข้าถึงคำสั่งต่างๆ ได้ง่ายขึ้น (ภาพประกอบตามลิงก์), รองรับการใช้ฮาร์ดแวร์ช่วยเรนเดอร์เนื้อหา
• Gallery - รองรับ Picture Transfer Protocol (PTP)
• Calendar - ปรับ UI ให้สวยงามขึ้น
• Contacts - ค้นหาแบบ full text
• E-mail - ปรับวิธีการส่งเมลแบบ HTML ให้ดีขึ้น, ปรับการดึงเมลไม่ให้เปลืองแบตเตอรี่
รายละเอียดทั้งหมดดูใน Android Developers
ผู้ใช้แท็บเล็ต XOOM จะได้อัพเป็น 3.1 แล้ววันนี้ ส่วนแท็บเล็ตตัวอื่นยังต้องรอต่อไป
กูเกิลยังพูดถึง Google TV สั้นๆ ว่าจะได้อัพเป็น 3.1 เช่นกัน และจะมี Android Market เวอร์ชันทีวีด้วย โดยจะมาช่วง "หน้าร้อน" ของสหรัฐ
ข้อมูลจาก Android Central, BGR

Google TV

flickr:5733423354

ปีที่แล้วกูเกิลก็เปิดตัว Google TV รุ่นแรกที่งาน Google I/O เช่นกัน แต่มันกลับกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ล้มเหลวของกูเกิล และเมื่อปลายปีที่แล้ว บริษัทก็ประกาศว่าจะนำมันกลับไปปรับปรุงใหม่ ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าจะกลับมาเปิดตัวอีกครั้งในงานปีนี้
ข่าวหลายกระแสบอกว่า Google TV รุ่นใหม่จะใช้ฐานโค้ดเดียวกับ Android 3.0 และจะมี Android Market เพิ่มเข้ามา แต่ตัวอุปกรณ์อาจจะพร้อมจริงๆ ก็ปลายปีนี้
บริการเช่าหนังออนไลน์แบบเดียวกับ YouTube Movies ที่ประกาศไปแล้ว
กระบวนการและเงื่อนไขของการเช่าหนังเหมือนกันหมด (30 วัน-24 ชม.) เพียงแต่เปลี่ยนจากหน้าเว็บ YouTube มาเป็นแอพชื่อ Movies บนแท็บเล็ต Android เท่านั้น นอกจากนี้ผู้ใช้ยังสามารถซื้อหนังจาก Android Market โดยตรงก็ได้ โดยหนังจะมาโผล่บนแอพ Movies ให้เราเอง สามารถดูหนังแบบออฟไลน์ได้ โดยโหลดมาเก็บไว้ในเครื่องจนสมบูรณ์ก่อนแล้วค่อยดู
ราคาหนังเริ่มต้นที่เรื่องละ 1.99 ดอลลาร์ (เรื่องใหม่หน่อย 3.99 ดอลลาร์) ตัวแอพ Movies จะใช้ได้กับ Android 2.2 ขึ้นไป ส่วนผู้ใช้ XOOM จะได้อัพเกรดแล้ววันนี้
หมายเหตุ: บริการเช่าหนังยังใช้ไม่ได้กับ Market ของประเทศไทยครับ
ที่มา - BGR

Chrome OS

flickr:5732878085

โครงการ Chrome OS ที่ดำเนินต่อเนื่องมาเกือบสองปี ได้ฤกษ์ออกผลิตภัณฑ์จริงในงาน Google I/O ครั้งล่าสุด สิ่งที่กูเกิลแถลงทั้งเรื่อง Android และ Chrome OS ก็เริ่มชัดเจนมากขึ้นว่าเป้าหมายจะเหมือน-ต่างอย่างไร
คำตอบนั้นอาจอธิบายสั้นๆ ว่า
• Chrome OS จับตลาดพีซีเดิม ด้วยแนวคิดใหม่ (Reinvent PC)
• ส่วน Android จะจับตลาดเกิดใหม่ที่ไปไกลกว่าพีซี (Beyond PC)
Google เปิดตัวเน็ตบุ๊ค 2 ตัวแรกที่รองรับระบบปฏิบัติการของตนเองที่มีชื่อว่า Chrome OS ในงาน Google I/O ซึ่งเป็นเน็ตบุ๊คของ Acer และ Samsung โดย Google รายงานเกี่ยวกับสเปคอย่างคร่าวๆ ว่าทั้งสองตัวจะมีสเปคใกล้เคียงกัน คือ จะ boot เครื่องจาก SSDs และใช้เวลาในการเปิดเครื่องเพียง 8 วินาที มาพร้อมแบตเตอรี่ที่ใช้ได้ตลอดวัน และจะวางจำหน่ายพร้อมกันในวันที่ 15 มิถุนายนในเว๊ปไซท์ของ Amazon และ Best Buy
Chrome OS ตัวใหม่จะมีหน้าตาคล้ายๆ ของเดิม แต่ได้ทำการแก้ปัญหาในตัว File Manager ขึ้นมาเป็นแท๊ปใหม่เลย โดย File Manager นี้ถูกทำให้รองรับการใช้งานด้านมัลติมีเดียที่สะดวกขึ้น คือสามารถเล่นหนังได้ในตัว และสามารถอ่านไฟล์ PDF ได้โดยไม่ต้องลงอะไรเพิ่ม มากไปกว่านั้น Google ยังจับมือกับแอพดังๆ บน Chrome OS เพื่อให้สามารถทำงานได้ในโหมดออฟไลน์มากไปกว่านั้น ข้อดีหลักๆ ของ Chrome OS ก็คือ สามารถบูตเครื่องได้รวดเร็ว ต่อเน็ตตลอดเวลา แบตใช้ได้นาน ข้อมูลบน cloud service ไม่หายไปไหน และมีตัวรักษาความปลอดภัยของตัวเองที่อัพเดตตลอดเวลา ไม่ต้องลงเพิ่ม

Google Music Beta

flickr:5733423318

ตรงตามข่าวก่อนหน้านี้ กูเกิลเปิดตัว Google Music Beta ซึ่งเป็นบริการสำหรับ "ฝากไฟล์เพลง" ไว้บนกลุ่มเมฆ เพื่อสตรีมบนอุปกรณ์ที่เป็น Android ได้ไม่จำกัดจำนวน พร้อมฟีเจอร์มาตรฐานของแอพฟังเพลงอย่าง playlist หรือ mix บริการนี้จะเหมือนกับ Amazon Cloud Player ซึ่งผู้ใช้จะต้องเป็นคนอัพโหลดเพลงเอาเอง และกูเกิลก็ยังไม่ได้สิทธิ์การซื้อเพลงเข้า Google Music เหมือนกับกรณีของ Amazon บริการ Google Music จะรองรับมือถือด้วย และกูเกิลก็โชว์แอพ Music บนมือถือ Nexus S ที่นำอินเทอร์เฟซมาจาก Honeycomb แล้ว ข้อดีของระบบนี้คือซื้อมือถือมาใหม่ก็จะซิงก์เพลงได้เลย สามารถเลือกเพลงที่เก็บแบบออฟไลน์ตลอดเวลาได้ด้วย เข้าไปดูหน้าตาของ Google Music กันก่อนได้ ตอนนี้ยังใช้ได้เฉพาะผู้ใช้ในสหรัฐ และฟรีเฉพาะช่วงเบต้า อนาคตจะเก็บเงิน

สรุป
งานสัมมนาครั้งนี้ กูเกิลไม่ได้มีอะไรปรับโฉมใหม่มาก นอกเหนือจากการขยับเวอร์ชั่น Android ส่วนที่เหลือก็เป็นไปตามที่นักวิจารณ์คาดไว้ ในส่วนของ Chrome OS แผนเปิดตัว Chrome OS, Chromebook และ Chromebooks for business นั้นชัดเจนว่า กูเกิลเล็งตลาดไอทีองค์กร (enterprise IT) ซึ่งฝั่งไคลเอนต์นั้น ถูกครอบครองโดย "พันธมิตรวินเทล" คือพีซีแบบดั้งเดิมจาก Dell/HP/Acer/Lenovo ที่ใช้หน่วยประมวลผลจากอินเทล ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ของไมโครซอฟท์ และติดตั้งชุดออฟฟิศของไมโครซอฟท์

ในรอบสิบปีหลัง พีซีองค์กรนั้นกลายสภาพจากพีซีเดี่ยวๆ ที่ใช้พิมพ์งานเอกสารหรือทำงานเฉพาะทางเป็น workstation กลายมาเป็นพีซีที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายในสำนักงาน มีการแลกเปลี่ยนไฟล์ ส่งอีเมล พูดคุยสนทนากันภายในองค์กร

ส่วนแอพพลิเคชันขององค์กรก็เริ่มกลายร่างจากแนวคิด client-server มาเป็นเว็บแอพพลิเคชันมากขึ้น จากเดิมที่กิจกรรมที่เกิดขึ้นบนพีซีองค์กร ทำในระดับ native application อยู่ที่ 60-70% ก็เปลี่ยนมาเป็น 80-90% อยู่บนเว็บเบราว์เซอร์แทน (ส่วนที่เหลือก็คือซอฟต์แวร์ใหญ่ๆ อย่างเช่น Microsoft Office หรือ Photoshop เท่านั้น)

กูเกิลจึงจับจุดนี้มาสร้างเป็นตลาดใหม่ ก็คือ พีซีองค์กรที่เล่นเน็ตได้อย่างเดียว (ครอบคลุมงาน 80-90%) และมีจุดขายที่การบริหารจัดการที่ซับซ้อนน้อยกว่าพีซี ไม่ต้องลงแอนตี้ไวรัส ไม่ต้องอัพเดตซอฟต์แวร์ ไม่ต้องแบ็คอัพระบบ ฯลฯ