First Touch Blackberry Playbook

ข่าว : First Touch BlackBerry PlayBook : มาช้าแต่ห้ามมองข้าม ! - อาทิตย์, 08 พฤษภาคม 2011
สรุปข่าว
เมื่อพูดถึง Tablet ในตอนนี้ ช่วงนี้ตลาดฝั่ง Android ก็เริ่มตื่นตัวขึ้น ในฝั่ง iOS ก็ยังคงเล่นบทเจ้าตลาด แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่า ยังมี Tablet อีกเจ้า ที่ซุ่มอยู่นาน จนตอนนี้ พร้อมแล้ว!!!

flickr:5721010945

ปี 2010 ช่วงปลายปี สิ่งหนึ่งที่คนที่สนใจในวงการ IT ต้องจำกันได้แน่ๆ นั้นคือการคลอด BlackBerry PlayBook ที่ถือเป็น Tablet ตัวแรกจาก RIM แต่ด้วยหลายสิ่งที่อาจเกิดขึ้นระหว่างพัฒนา ทำให้ RIM ต้องพา PlayBook ไปทดลอง แก้ไข เวลาผ่านไปอยู่หลายเดือน ทำเอาหลายคนแอบลืม หลายคนก็รอแบบหงุดหงิด และหลายคนเฝ้ามองดู จนในที่สุด PlayBook ก็มาลงขายอย่างจริงจังในตลาดสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการกับเค้าซะที แถมเครื่องนอกก็บินมาให้เป็นเจ้าของผ่านช่องทางขายที่คุ้นเคยกัน

กระแส Tablet ในไทย ที่ตอนนี้ไปทาง iPad กับ Android เป็นหลักอยู่ ทั้งที่ตัวเลือกของตลาด Tablet มันมีมากกว่าแค่สองระบบนี้ เพราะ BlackBerry ก็โดดลงมาเล่นด้วยเช่นกัน เพราะตลอดเวลาที่อยู่คู่วงการสื่อสาร สิ่งที่ BlackBerry สร้างให้คนทั้งโลกจดจำ ก็คือการเป็น Smart Phone เชิง Lifestyle ที่ทำให้เกิดกระแส และสร้างกลุ่มคนใช้มาจนถึงทุกวันนี้ การจับ Tablet ให้มาในแบบที่ BlackBerry ถนัด หรือทำเพื่อเสริมส่ิงที่ขาดของ BlackBerry จึงเป็นที่มาที่ทำให้ PlayBook เป็นหนึ่งใน Tablet ของตลาดที่ถูกจับตามองในตอนนี้ และ RIM ก็ได้จัดรอบพิเศษให้สื่อมวลชนไทย เหล่าบรรดาเกจิประจำวงการ ได้ลองกันเป็นน้ำจิ้มก่อนเจอกันอย่างเป็นทางการในเร็วๆนี้

ก่อนจะไปพบกับ PlayBook ขอเล่าถึงสเปคที่น่าสนใจโดยสังเขปกันก่อน ตัวเครื่องใช้หน้าจอความละเอียด 1024x600+170 ppi / CPU Dual-Core 1 GHz / Ram 1 GB / 5 Megapixel Camera + 720P HD video Record / กล้องด้านหน้า 2 Megapixel / Flash 10.1+HTML 5 สเปคเหล่านี้ ถือว่าเป็นสเปคที่ตลาด Tablet ตัวแรงๆทำได้ เมื่อแรกเห็น PlayBook ตัวเครื่องให้ความรู้สึกที่ ดูครั้งแรก ต่อให้ไม่ปะตราหรืออะไรที่เชื่องโยงไปหา BlackBerry ก็สามารถบอกได้ว่า งานออกแบบน่าจะมาจาก BlackBerry เพราะโทนสีดำของเครื่อง การตัดเส้นที่เน้นความเรียบ เป็นแนวการออกแบบประจำของ BlackBerry ที่พบได้กับมือถืออื่นๆอยู่แล้ว ถ้ามองด้วยสายตา ตัวเครื่องดูเหมือนกรอบรูป และดูมีขนาดที่เล็ก แต่ในความเป็นจริงแล้ว ขนาดเครื่องเรียกว่าพอๆกันกับ Galaxy Tab 7 นิ้ว ไม่ว่าจะเรื่องขนาด หรือความหนาของเครื่อง

flickr:5721011025

เมื่อลองจับถือดู ตัวเครื่องมีวัสดุตัวเครื่องเป็นสัมผัสแบบยาง เป็นผิวที่เหมือนกับที่พบได้กับด้านหลังของ BlackBerry Torch 9800 แต่ผิวของ PlayBook จะรู้สึกสากมือจนคิดถึงยางที่บรรดามือถือ Motorola ชอบเอามาทำฝาหลังกัน เท่าที่ลองจับ ผิวยางเครื่องไม่สร้างรอยนิ้วมือหรือรอยมันได้ง่ายๆ แต่น่าจะกินฝุ่นพอสมควร อันนี้ต้องรักษาความสะอาดขณะใช้กันพอสมควร ตัวเครื่องที่แบนราบทุกมิติ ทำให้เวลาถือ จะรู้สึกว่า เครื่องค่อนข้างบางและจับไม่ค่อยถนัดมือ ทั้งที่ความหนาของเครื่อง PlayBook ก็พอๆกับ Galaxy Tab 7 นิ้ว ทำให้ในแง่ความกระชับมือ Galaxy Tab 7 นิ้ว ถือว่ายังทำได้เข้ารูปกับมือมากกว่า แต่มุมการถือของ PlayBook เวลาใช้งานจริง ค่อนข้างเน้นแนวนอนมากกว่าแนวตั้งอย่างรู้สึกได้ แต่ก็สามารถใช้งานในแนวตั้งได้ปกติเช่นกัน

flickr:5721011067

การเปิดเครื่องของ PlayBook ถ้ามองในแง่ของ OS เทียบกับระบบอื่นๆ ถือว่าแอบใช้เวลานานอยู่เล็กน้อย แต่ถ้ามองในระหว่าง BlackBerry มือถือ กับ PlayBook ความเร็วในการเปิดเครื่อง / ปิดเครื่องของ PlayBook ถือว่าชนะ BlackBerry มือถือแบบชัดเจน สิ่งที่แรกที่ทุกคนน่าจะประทับใจหลังเปิดเครื่อง นั้นคือหน้าจอเครื่องที่สวยงามมาก มองได้ทุกองศา ให้ความคมของภาพและอักษรในระดับดีมาก แบบถ้ามี Galaxy Tab 7 นิ้ววางข้างๆ จะเห็นได้ชัดว่า จอของ PlayBook ให้ความสวยงามน่าประทับใจมาก การควบคุม PlayBook จะใช้การควมคุมแบบสัมผัสทั้งหมด เพราะ PlayBook ไม่มีปุ่มอะไรที่จอให้กดออก หรือสัมผัสเลย โดยการควบคุม PlayBook จะต้องใช้นิ้วแตะที่ขอบด้านนอกจอก่อน จากนั้นให้ลากจากขอบนอกเข้ามาในจอ การควบคุมจึงมีการตอบสนอง โดยการควบคุมจะมีดังนี้

- แตะขอบจอด้านล่างตรงคำว่า BlackBerry แล้วลากขึ้น เป็นการออกจากลูกเล่นที่ใช้งาน / เรียก Multitask / ถอยกลับ
- แตะขอบจอซ้าย หรือขวา และลากไปอีกด้าน จะใช้ในกรณีสลับไป App อื่นทันทีโดยไม่ต้องออกจาก App มาหน้าจอหลักก่อน
- แตะขอบจอด้านบน แล้วลากลง จะเป็นการเรียกการ Setting และสถานะตั้งค่าที่จำเป็น
- ขณะที่เครื่องปิดจอ แตะสี่นิ้วพร้อมกันกลางจอและขยับนิ้วพร้อมกัน จะเป็นการเปิดหน้าจอกลับมาใช้งาน

flickr:5721569854

เมื่อลองใช้งานดู Gesture ที่ควบคุมเหล่านี้ ให้การทำงานที่รวดเร็ว ตอบสนองได้ดีมาก เรียกว่าถ้าคุ้นเคยกับสินค้าตระกูล iOS อยู่แล้ว จะรู้สึกได้ว่าการตอบสนองของ PlayBook ถือว่าทำได้ไม่แพ้กันทีเดียว ระบบปฎิบัติการ QNX ลักษณะหน้าตาต่างๆ จะคล้ายกับที่พบได้ใน WebOS ของ Palm / HP หน้าตาของระบบ ดูแล้วถ้าคนใช้ BlackBerry OS6 มาก่อน จะรู้สึกคุ้นเคยกันดี แต่ถ้าคนไม่เคยใช้มาก่อน อาจต้องทำความเข้าใจอยู่ครู่ใหญ่ๆ แต่พอเข้าใจ ก็จะรู้สึกได้ว่าง่าย และใช้ได้คล่องมือทันที การทำงานของ QNX ถือเป็น Mutitask ที่สมบูรณ์แบบที่สุดอีกระบบหนึ่งในอุปกรณ์พกพา เพราะระบบสามารถแสดงผลการทำงานใน Task ขณะที่ย้ายไปใช้งานลูกเล่นอื่นๆ เรียกว่าหากจะเล่นเกม หรือกำลังดูวีดีโออยู่ ในไอคอนของ Task ก็แสดงผลการทำงานต่อเนื่องได้เช่นกัน

flickr:5721011181

การสลับ App เรียกใช้งานลูกเล่นต่างๆ ทำได้รวดเร็ว ต่อให้ก่อนหน้าจะเปิดอะไรหนักๆไว้เยอะๆ ก็พบได้ว่าเครื่องยังทำงานได้เร็วอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน การสลับหน้า App ไปมาด้วยการลากจอไปทางซ้ายหรือขวา ก็ให้ความเร็วในการเปลี่ยนที่ไม่กระตุก พร้อมกับหน้า App ขณะถูกเปลี่ยน ก็แสดงให้เห็นว่าทำงานได้อย่างต่อเนื่องพอสมควร คำสั่งการใช้งานย่อยของระบบ อาจยังต้องทำความเข้าใจในการหาสักพัก ว่าจะปรับตรงไหน เปลี่ยนอย่างไร แต่เมื่อใช้ได้คล่อง ก็จะพบว่าไม่ได้ยากอย่างที่คิด ลูกเล่นรวมๆที่ให้มา ตรงใจในแง่การใช้งานความบันเทิง เพราะลูกเล่นต่างๆ มีหน้าตาการใช้งานที่สวย และปรับตัวเร็วขึ้นกว่า BlackBerry มือถือที่เคยใช้ รวมถึงคุณภาพเสียงของลำโพงที่ดีขึ้น รองรับ HDMI ในตัว ทำให้ข้อครหาของ BlackBerry ที่ไม่ค่อยประสากับเรื่องบันเทิงเท่าระบบอื่นๆ น่าจะหายไปใน PlayBook เช่นกัน ในแง่การใช้งานภาษาไทย ตัว PlayBook ที่มาให้ลอง ยังไม่สามารถพิมพ์ไทยได้ การแสดงผลภาษาไทย ยังติดแค่เรื่องสระลอยกับการตัดคำที่ยังไม่ดีเท่าที่ควร แต่ทาง RIM บอกไว้ว่า เครื่องขายจริง จะรองรับภาษาไทยสมบูรณ์แบบแน่นอน

ลูกเล่นที่น่าสนใจของ PlayBook อีกอย่างหนึ่ง คือ BlackBerry Bridge ที่เป็นจุดขายหลักของ PlayBook โดยถ้าใช้ BlackBerry อยู่แล้ว เมื่อเชื่อมต่อตัวมือถือ BlackBerry กับ PlayBook การอ่านเมล์หรือข้อมูลด้าน Organizer อื่นๆจากเครื่อง จะวิ่งเข้ามาแสดงใน PlayBook ผู้ใช้งานสามารถปรับแต่งจาก PlayBook ได้ทันที และเมื่อเลิกใช้งาน ข้อมูลใน PlayBook จะไม่สามารถแสดงผลได้ เพราะจะล็อคกับมือถือ BlackBerry เครื่องนั้นๆที่ใช้งานเท่านั้น และในอนาคต อาจจะมีเวอร์ชั่นรองรับกับมือถือระบบอื่นๆ เพื่อให้ใช้งานได้เต็มรูปแบบมากขึ้น

flickr:5721011351

รูปเปรียบเทียบระหว่าง Blackberry Playbook (ซ้าย) และ Sumsung Galaxy Tab (ขวา)

วิเคราะห์ข่าว
หลายคนที่ติดตามข่าวสาร หรือชอบเล่น Gadget อาจรู้สึกว่า กระแสตอนนี้ที่ BlackBerry ค่อนข้างจะนิ่ง ทำให้ความน่าตื่นเต้นของ PlayBook ดูจะลดน้อยลงไปบ้าง แถมการเลื่อนวางขายที่ถือว่าค่อนข้างนานหลังจากเปิดตัว ทำให้หลายคนก็หวั่นว่า PlayBook จะดีหรือไม่ แต่เครื่องจริงที่ได้ลองสัมผัสกันพักใหญ่ๆ สิ่งที่ได้รับจาก PlayBook ให้ความน่าประทับใจ แต่ก็ยังรู้สึกได้ว่ายังไม่สุดในบาง function
สเปคของแท็บเล็ต Blackberry Playbook มีดังนี้คือ
• จอสัมผัส Capacitive ขนาด 7 นิ้ว 1024 x 600 พิกเซล
• เล่นวีดีโอ Full HD 1080p
• ซีพียู 1GHz Dual-core
• RAM 1GB
• พื้นที่เก็บข้อมูล 16GB หรือ 32GB
• WiFi 802.11b/g/n
• Bluetooth 2.1+EDR
• กล้องหน้าเครื่อง 3 MP สำหรับแชทวีดีโอหรือถ่ายภาพ
• กล้องหลังเครื่อง 5 MP ถ่ายวีดีโอ Full HD 1080p ได้
• พอร์ท microHDMI
• พอร์ท microUSB
• สนับสนุน DLNA
• ขนาดตัวเครื่อง 130 x 194 x 10 มม
• หนัก 400 กรัม
ซอฟต์แวร์ใน Blackberry Playbook มีความแตกต่างจากมือถือแบล็คเบอร์รี่ทั่วไปโดยสิ้่นเชิง โดยจากมากับระบบปฏิบัติการตัวใหม่ BlackBerry Tablet OS ซึ่งมีพื้นฐานมาจากระบบปฏิบัติการ QNX
เว็บบราวเซอร์หรือโปรแกรมสำรับเล่นอินเตอร์เน็ตใน Blackberry Playbook จะสนับนุน HTML5, Adobe Flash 10.1 และ WebKit ด้านกราฟฟิค Blackberry Playbook สามารถเล่นเกมส์ 3D ได้ โดยจะสนับสนุนมาตรฐาน OpenGL
นอกจากจะต่อใช้อินเตอร์เน็ตผ่าน WiFi แล้ว BlackBerry Playbook จะสนับสนุนการต่อใช้บริการอินเตอร์เน็ตในโทรศัพท์มือถือ Blackberry โดยผ่าน Bluetooth BlackBerry Playbook สามารถรับ Push Email จากมือถือแล็คเบอร์รี่, แชท BBm (Blackberry Messenger), นำข้อมูลจากปฏิทินหรือเปิดดูไฟล์เอกสารในมือถือได้ ทั้งนี้ในการเชื่อมต่อกับมือถือแบล็คเบอร์รี่ จะสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อโทรศัพท์มือถือตัวนั้นใช้ระบบปฏิบัติการ Blackberry OS 5.0 ขึ้นไปเท่านั้น

สำหรับความประทับใจของ PlayBook ถ้าในส่วนภายนอก คือความสวยงามในการถือ เรียกว่าถ้าเป็นนักธุรกิจ คนทำงาน งานออกแบบ PlayBook ให้ความสุขุม หนักแน่น ในแบบที่ผู้ใหญ่ หรือผู้ต้องการความเชื่อถือในการใช้งาน ในขณะเดียวกัน วัสดุที่เป็นยางหนึบ ทำให้การจับถือให้ความมั่นใจได้อยู่พอสมควร น้ำหนักเครื่องให้ความรู้สึกที่ถือนานๆได้ ในขณะเดียวกัน การใช้งานไม่ว่าจะแนวนอนหรือแนวตั้ง ทำได้ลงตัวต่อการใข้งานทั้งสองแนว พอมาเล่นตัวเครื่อง การทำงานของ QNX ถึงจะดูจับทางไม่ถูกในครั้งแรก แต่การใช้ Gesture ที่น้อยวิธี แต่ครอบคลุมหมด ก็ทำให้เรียนรู้การควบคุมได้ไม่ยาก ระบบ Task ที่แสดงผลได้เยี่ยม สลับได้เร็ว บวกกับความเร็วในการตอบสนอง ไม่ว่าจะพิมพ์ เปิด App สลับการใช้งาน หรือเล่นอะไรหนักๆในเครื่องอย่างเกม หรือ Flash ใน Web ตัวระบบก็ไม่แสดงอาการหน่วง ค้าง หรือมีจังหวะคิดก่อนทำสักครู่ เรียกว่าเร็วและตอบสนองในบางมุม เนียนกว่า iOS สลับการทำงานด้วยซ้ำ

ลูกเล่นติดเครื่องที่ให้การใช้งานบันเทิงที่ดี ไม่ว่าจะเรื่องการดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม เล่นเว็ป ที่ให้การทำงานที่ดี สลับไปมาได้อย่างรวดเร็ว เมื่อรวมกับคุณภาพหน้าจอที่สวยงาม และลำโพงติดเครื่องที่ให้คุณภาพเสียงที่ดี ทำให้แง่ความบันเทิง ถือว่า PlayBook เป็น Tablet 7 นิ้ว ที่ทำหน้าที่ในด้านนี้ได้ดีเยี่ยม กล้องถ่ายรูปของเครื่อง ถึงจะไม่สวยสุดๆ แต่ในแง่ของกล้องที่เป็น Focus แบบกดแล้วถ่ายเลย ภาพที่ได้จากในจอ ค่อนข้างน่าประทับใจ ในขณะเดียวกัน ลูกเล่นด้านธุรกิจ ก็ไม่บกพร่องในแบบที่ BlackBerry ทำได้ แถมเติมเต็มด้วยการใช้งาน BlackBerry Bridge ที่ทำให้การใช้งานจาก BlackBerry คล่องตัวมากขึ้น

นอกจากนี้ PlayBook ที่ถึงจะมีมุมการใช้งานแบบเป็นการเป็นงานที่ดี แต่การไม่ใช่งานร่วมกับ BlackBerry ทำให้หลายจุด เหมือนโดนผนึกความสามารถลงไป หาก RIM ทำลูกเล่นให้อิงกับมือถือได้หลายระบบกว่านี้ จะทำให้ลูกเล่นจุดขายอย่าง Bridge ดูเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น ในขณะเดียวกัน การไม่มีรุ่นใส่ซิมใช้งานได้เป็นตัวเลือกเพิ่มเติม ทำให้กลุ่มที่ชอบใช้ Tablet แบบเดินทาง อาจรู้สึกไม่สะดวกใจที่จะใช้งานได้ โดยรวมแล้ว การใช้ PlayBook แบบเดี่ยวๆ ความสามารถเครื่องอาจใช้ได้แค่ 70 % แต่ถ้าใช้คู่กับมือถือ BlackBerry การใช้งานจะสมบูรณ์มากขึ้น แต่ก็ยังไม่สุดเท่ากับ ใช้คู่กับ BlackBerry ที่ใช้โปร BlackBerry แบบไม่จำกัด เพราะการตั้งให้เชื่อมต่อกันตลอดเวลา จะสามารถหยิบ PlayBook มาใช้งานทดแทนความสามารถของ BlackBerry ได้เกือบทั้งหมดจริงๆ

บทสรุป
PlayBook สินค้าจากค่าย RIM มีทั้งจุดเด่นและจุดด้อยอยู่พอสมควร อาทิเช่น จุดเค่นด้าน Design และ function แต่ก็ยังมีข้อบกพร่องเล็กๆน้อยๆ ด้านการที่ PlayBook ไม่มีแอพพลิเคชั่นสำหรับดาวน์โหลด หากต้องการใช้งานแอพพลิเคชั่นของแอนดรอยด์ นั่นหมายถึงผู้ใช้ต้องไปหาดาวน์โหลดเอาเองจากด้านนอก แล้วจึงนำมาใส่ในตัวเครื่องภายหลัง ซึ่งวิธีนี้เป็นขั้นตอนที่ดูยุ่งยาก อีกทั้งการที่ PlayBook มีแอพพลิเคชั่นของตัวเองในจำนวนไม่มาก ทำให้ผู้ใช้ไม่สามารถหาทางเลือกอื่นได้ นอกจากหยิบยืมเอาแอพพลิเคชั่นของแอนดรอยด์มาใช้งานแทน แต่เชื่อว่าในอนาคตหากบรรดานักพัฒนาซอฟต์แวร์ จะหันมาพัฒนาแอพพลิเคชั่นให้กับ PlayBook ซึ่งปัญหานี้จะถูกตัดออกไป การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไร้สาย ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดของ PlayBook เนื่องจากตัวเครื่อง ไม่สามารถใส่ซิมการ์ดได้ การเชื่อมต่อจึงมีเพียงเชื่อมผ่าน Wi-Fi เท่านั้น แต่ยิ่งไปกว่านั้น คือการใช้งาน EDGE หรือ 3G จะต้องใช้ผ่าน BB แยกต่างหากอีกหนึ่งเครื่อง
จุดนี้เองที่ทำให้ผู้บริโภคเกิดความลังเลว่าจะซื้อดีหรือไม่ หากผู้บริโภคยังไม่มี BB เป็นของตัวเอง จะถือเป็นกลยุทธ์ในการผูกขาดทางการค้าที่เกินกว่าเหตุ เนื่องจากผู้บริโภคต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์ซ้ำซ้อน ในขณะที่การใช้งานลักษณะนี้ บางรายมองว่าไม่เหมาะกับเทรนด์ปัจจุบันที่เน้นอุปกรณ์เป็น All in One แต่หากมองในอีกแง่มุมหนึ่ง จุดด้อยนี้ คือความพยายามเอาใจใส่ลูกค้า BB ของ RIM ที่ต้องการให้ PlayBook เป็นเหมือนอุปกรณ์ต่อยอดการใช้งาน ที่เสริมประสิทธิภาพให้การใช้งาน BB ให้สูงขึ้น อีกทั้งลูกค้าของ RIM ไม่จำเป็นต้องลงทุนเพิ่มเติมมากมาย เพียงแค่ซื้อ PlayBook ก็สามารถใช้งานร่วมกับ BB ที่มีอยู่ได้ทันที ซึ่งการตัดสินใจเลือกซื้อ PlayBook นั้นขึ้นอยู่กับความสนใจ ความคุ้มค่าในการซื้อ และประโยชน์การใช้งานของแต่ละบุคคล
Reference
http://www.thaizad.com/review-blackberry-playbook/
http://www.blognone.com/news/23483
http://www.krapalm.com/2011/05/review-blackberry-playbook-part-1/
http://pc-d.com/2010/09/29/35/
http://www.mxphone.com/article/9742/First-Touch-BlackBerry-PlayBook